GROW 101 รวมเรื่องการปลูกพืชมหัศจรรย์กัญชาที่ต้องรู้ (Part 1)
การปลูกกัญชาอินทรีย์ นับเป็นหนึ่งในรูปแบบการปลูกที่ทั้งสามารถให้ผลผลิตคุณภาพสูง และมีความเป็นมิตรต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ บนหลักการคิดที่ว่า จำลองป่าไว้ในกระถาง ซึ่งรวมถึงปัจจัยหลักต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ (ecosystem) และกลุ่มสิ่งมีชีวิตไปจนถึงกลุ่มจุลินทรีย์ดิน (soil food web) ที่แข็งแรง
เช่น การปลูกพืชคลุมดิน (cover crop) ที่มักเลือกใช้พืชตระกูลถั่ว เพื่อพึ่งพาประโยชน์จากจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจน การปลูกพืชพันธมิตร (companion plants) ที่ทั้งสามารถเรียกแมลงศัตรูทางธรรมชาติ (predator) และช่วยป้องกันขับศัตรูพืชเบื้องต้น (pest repellent)
การใช้ไส้เดือนซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการปลูกในรูปแบบอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็น living soil หรือ no-till ด้วยประโยชน์สารพัดจากจุลินทรีย์ในลำไส้และการชอนไชที่นอกจากจะคอยเติมอากาศให้กับรากและดินแล้ว ยังเป็นการช่วยกระจายจุลินทรีย์ไปทั่วทั้งพื้นที่ปลูก
การใช้ปุ๋ยหมัก (compost) เพื่อทดแทนฮิวมัสซึ่งเปรียบเสมือนปุ๋ยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้สมุนไพรและจุลินทรีย์ในการควบคุมศัตรูพืช
เมื่อส่วนประกอบเหล่านี้ถูกนำมารวมเข้ากันอย่างเหมาะสม จะก่อให้เกิดความเป็นไปของระบบนิเวศน์ที่สวยงามและทำให้ดินมีชีวิต (living soil) ด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ที่ร่วมกันทำงานอย่างสามัคคีในลักษณะที่พึ่งพาซึ่งกันและกันกับรากพืช (symbiosis) จนอาจจะเรียกได้ว่า หากมีปัจจัยหลักอยู่อย่างครบถ้วน มนุษย์แทบจะไม่มีบทบบาทอะไรมากนัก นอกจากดูแลความสมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอและคอยรับชมผลงานธรรมชาติ
และด้วยความพิถีพิถันเหล่านี้เองที่อาจทำให้การปลูก กัญชาอินทรีย์ ไม่ว่าจะในรูปแบบ living soil หรือ no-till ถูกจัดเป็นหนึ่งในงานคราฟท์ที่ทรงคุณค่าอย่างเสมอมา
พืชคลุมดิน - พืชพันธมิตร / Cover Crops - Companion Plant
บ่อยครั้งเราอาจจะสังเกตุเห็นต้นพืชเล็กๆ ขึ้นปกคลุมไปทั่วหน้าดินของกระถางที่ใช้ปลูกกัญชา หรือแม้แต่พืชชนิดอื่น ซึ่งนอกจากความสวยงามสดชื่น เพิ่มอารมณ์ความเป็นธรรมชาติแล้ว พืชเหล่านี้ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญงอกงามของผลผลิต ไปจนถึงสุขภาพของตัวดินเอง การปลูกพืชลักษณะนี้จะเรียกว่า การปลูกพืชคลุมดิน (cover crops)
โดยทั่วไปการปลูกพืชคลุมดินมักเลือกใช้พืชตระกูลถั่วเป็นหลัก ด้วยคุณสมบัติของแบคทีเรีย ไรโซเบียม ซึ่งอาศัยอยู่ที่ปมรากของพืชชนิดนี้ ที่มีความสามารถในการจัดการและจับตรึงไนโตรเจนจากอากาศกลับคืนสู่ดิน และแลกเปลี่ยนกับรากพืชได้อย่างเชี่ยวชาญแข็งขัน
นอกจากนี้ส่วนรากของพืชคลุมดินเองยังช่วยส่งเสริมความร่วนซุยและช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับหน้าดิน ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ดีอื่นๆ เช่น เชื้อราไมคอร์ไรซา ไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย
สำหรับการปลูกกัญชาที่บ้านในลักษณะระบบปิด (indoor)
โคลเวอร์ (clover) มักเป็นพืชตระกูลถั่วอันดับต้นๆ ที่จะถูกเลือกมาใช้เป็นพืชคลุมดิน ด้วยขนาดความสูงเต็มวัยที่ค่อนข้างเตี้ย ทำให้ควบคุม ตัดแต่งได้สะดวก ในขณะที่การปลูกกลางแจ้งหรือระบบโรงเรือน (outdoor - greenhouse) อาจมีการใช้ปอเทือง อัลฟาฟ่า หรือถั่วบราซิล เข้ามาเสริมเนื่องจากหาง่ายและมีราคาที่ไม่แพง
ในขณะเดียวกันการปลูกพืชสมุนไพรหรือแม้แต่ดอกไม้ ก็สามารถปลูกร่วมกันหรือปลูกในบริเวณเดียวกันได้ โดยพืชเหล่านี้จะมีคุณสมบัติที่ส่งเสริมและเป็นพันธมิตรกัน (Companion plant) เช่น ทานตะวัน ดาวเรือง โหระพา คาโมมายล์ ผักชี กระเพรา ตะไคร้ ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยในการเรียกและดึงดูดแมลงนักล่า ตัวห้ำ ตัวเบียนหรือแมลงศัตรูทางธรรมชาติของศัตรูพืช (predator) รวมถึงผึ้งและผีเสื้อ หรือแม้แต่คุณสมบัติในการช่วยป้องกันแมลงเบื้องต้นจากพืชสมุนไพร (pest
repellent) ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ ถือเป็นส่วนสำคัญของการจำลองระบบนิเวศน์โดยเฉพาะในระยะยาว
ซึ่งนอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้ว หากทั้งพืชคลุมดินและพืชพันธมิตรเติบโตมากเกินไป เรายังสามารถตัดแต่ง และทิ้งเศษพืชไว้หน้าดินเพื่อเป็นทั้งอาหารให้แก่ไส้เดือนและเป็นปุ๋ยพืชสดที่จะย่อยสลายคืนสู่ดินได้อีกด้วย
Soil Food Web
กลุ่มสิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศน์และการดูดซึมธาตุอาหารของพืช ประกอบไปด้วย เชื้อรา แบคทีเรีย โปรโตซัว ไส้เดือนฝอย ไปจนถึงสัตว์ขาปล้องหรืออาร์โทรพอด เช่น ไรดิน แมลงหางดีด และไอโซพอด รวมถึงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ไส้เดือน สิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้จะถูกเรียกรวมกันว่า 'soil food web'
เชื้อราและแบคทีเรีย (fungi & bacteria)
Soil food web จะทำงานอยู่ตลอดเวลาในกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติในการสร้างฮิวมัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฮิวมัสนี้เองเป็นตัวแปรสำคัญที่เปรียบเสมือนปุ๋ยที่ธรรมชาติผลิตขึ้นเพื่อเติมเต็มทั้งอาหารและจุลินทรีย์ดีอยู่อย่างสม่ำเสมอ
จากกิจกรรมนี้เอง ที่ทำให้ตัวแปรสำคัญในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุอย่างเชื้อราและแบคทีเรียเปรียบเสมือนเป็นถุงปุ๋ยขนาดเล็กในดินที่เคลื่อนที่ได้ เนื่องจากสารอาหารส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการกินอินทรียวัตถุรวมถึงสารหลั่งจากรากพืช (root exudate) จะถูกเก็บไว้ในร่างกาย โดยส่วนเกินที่ถูกขับถ่ายออกมาจะเป็นสารอาหารในรูปแบบที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที นอกจากนี้การมีอยู่ของประชากรเชื้อราและแบคทีเรียฝ่ายดียังเป็นการช่วยป้องกันเชื้อโรคไปในตัวอีกด้วย
สารหลั่งจากรากพืช (root exudate) คืออะไร?
Root exudate เป็นของเหลวรูปแบบหนึ่งที่พืชหลั่งออกมาที่บริเวณราก มีส่วนประกอบหลักเป็น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และน้ำตาล ซึ่ง exudate นี้เองเป็นสิ่งที่ดึงดูดเหล่าจุลินทรีย์ และก่อให้เกิดรากฐานของความสัมพันธ์ที่สวยงามระหว่างพืชและจุลินทรีย์ในไรโซสเฟียร์ (rhizosphere บริเวณรากที่มีกิจกรรมระหว่างจุลินทรีย์และรากพืชมากที่สุด)
โดยเชื้อราและแบคทีเรียจะเป็นสมาชิกกลุ่มแรกที่ถูกดึงดูดด้วย root exudate และในขณะที่กำลังทั้งกินอาหารและขยายพันธุ์(อย่างรวดเร็ว) การปรากฏตัวของเหล่าเชื้อราและแบคทีเรียยังเป็นการดึงดูดโปรโตซัวและไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นจุลินทรีย์อีกกลุ่มหนึ่งจาก soil food web อีกด้วย
โปรโตซัวและไส้เดือนฝอย (protozoa & nematode)
ตัวแปรสำคัญทั้งในการย่อยสลายอินทรียวัตถุและการควบคุมความหลากหลาย รวมถึงสมดุลของประชากรจุลินทรีย์ เนื่องจากทั้งโปรโตซัวและไส้เดือนฝอยไม่เพียงแต่จะมากิน root exudate เท่านั้น แต่ยังกินเชื้อราและแบคทีเรียในจำนวนมหาศาล โดยของเสียจะถูกขับออกมาในรูปแบบพืชนำไปใช้ได้ทันทีอีกเช่นเคย
นอกจากนี้ทั้งเชื้อราและแบคทีเรียบางส่วนยังสามารถเกาะจับบนตัวไส้เดือนฝอยเพื่อเดินทางไปในดินได้ด้วย จึงทำให้ทั้งไส้เดือนฝอยและโปรโตซัวจึงเปรียบเสมือนตัวช่วยกระจายอาหารที่ถูกกักเก็บไว้ในเชื้อราและแบคทีเรียนั่นเอง
โดยไส้เดือนฝอยบางชนิดยังมีประโยชน์ในด้านการกำจัดศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี เช่น สายพันธุ์ Steinernema Siamkayai ที่มีความสามารถในการทำลายตัวอ่อนของบั่วราหรือ fungus gnat ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาโทรพอดส์ (arthropods)
สิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ขาปล้อง อีกหนึ่งกลุ่มสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญใน soil food web เช่น ไรดิน แมลงหางดีด และไอโซพอด มักพบได้บริเวณ 1-2 นิ้วของหน้าดินหรือ top soil มีบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญในการย่อยอินทรียวัตถุให้มีชิ้นเล็ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการย่อยสลายของเชื้อราและแบคทีเรีย
อาโทรพอดส์สามารถย่อยอินทรีย์วัตถุได้เป็นปริมาณมากในแต่ละวัน และแน่นอนว่าของเสียที่ถูกขับถ่ายออกมานั้น พืชจะสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันทีเช่นเดียวกับของเสียอื่นๆ ที่มาจากสมาชิกใน soil food web
การกินของพวกเค้ายังเป็นการควบคุมประชากรของทั้ง โปรโตซัว ไส้เดือนฝอย แบคทีเรียและเชื้อราไปในตัวอีกด้วย จึงทำให้อาโทรพอดส์ยังเป็นเปรียบเสมือนเครื่องปั่นปุ๋ยที่เดินทางไปทั่วหน้าดินพร้อมความสามารถในการกินและย่อยสลายที่ยอดเยี่ยม และคอยขับถ่ายสารอาหารในรูปแบบที่พืชนำไปใช้ได้อยู่อย่างต่อเนื่อง
ไส้เดือน (earthworm)
หนึ่งในสุดยอดมิตรสหายสำหรับการปลูกพืชอินทรีย์ ด้วยความสามารถในการย่อยสลายอินทรียวัตถุจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้น และการขับมูลไส้เดือนซึ่งอุดมด้วยสารอาหารที่พืชสามารถดูดซึมได้ง่าย การเดินทางและการพรวนดินของไส้เดือนยังช่วยให้ดินมีอากาศถ่ายเทอยู่อย่างต่อเนื่อง และช่วยหล่อเลี้ยงด้วยโครงสร้างให้ดินมีความร่วนอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ปุ๋ยหมักและน้ำหมัก (compost & compost tea)
ในทางธรรมชาติพืชจะได้รับทั้งสารอาหารจากซากอินทรีย์วัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ซากพืช ซากสัตว์ หรือแม้แต่มูลที่ทับถมกันและย่อยสลายโดย soil food web จนกลายเป็นวัสดุอินทรีย์สีน้ำตาลเข้มที่ย่อยสลายแล้วหรือ ฮิวมัส ซึ่งสามารถพบได้ในบริเวณหน้าดินหรือ top soil
ฮิวมัส (humus)
เปรียบเสมือนปุ๋ยที่ดีที่สุดที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาติและเป็นตัวแปรสำคัญที่จะคอยเติมเต็มธาตุอาหารทั้งหลักและรอง รวมถึงความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์สำหรับดินและพืชอย่างสม่ำเสมอ
แต่สำหรับพืชที่ปลูกตามครัวเรือนหรือพืชในกระถาง การสะสมและย่อยสลายของอินทรีย์วัตถุย่อมเกิดขึ้นไม่เพียงพอ ปุ๋ยหมักจึงเข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่สำคัญนี้แทนฮิวมัสนั่นเอง โดยมักจะเป็นการใช้ในลักษณะโรยหน้าดินหรือ top feed
ปุ๋ยหมัก (compost)
เปรียบเสมือนการจำลอง ฮิวมัส เป็นผลผลิตจากการย่อยสลายทางชีวภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยใช้ซากพืช ผลไม้ และมูลสัตว์เป็นวัตถุดิบตั้งต้น จากนั้นจึงผ่านกระบวนการหมักจนวัตถุดิบแปรสภาพมาอยู่ในรูปของปุ๋ยหมัก ซึ่งมักใช้งานในลักษณะโรยหน้าดิน (top feeding) เพื่อทดแทนฮิวมัสอย่างสม่ำเสมอ
น้ำหมัก (compost tea)
เนื่องจากปุ๋ยหมักหรือแหล่งอาหารที่เป็นอินทรีย์วัตถุ จะต้องผ่านกระบวนการและกิจกรรมของจุลินทรีย์ใน soil food web ก่อนที่พืชจะสามารถนำอาหารไปใช้ได้ซึ่งอาจใช้เวลา การใช้น้ำหมักที่พืชสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ทันทีจึงเข้ามาเป็นส่วนเสริมที่มักใช้ควบคู่กันไปกับปุ๋ยหมักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถใช้สำหรับการฉีดพ่นทางใบเพื่อการดูดซึมที่เร็วขึ้นได้อีกด้วย